ฟ้าทะลายโจร (2543) ของผู้กำกับวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง คือส่วนผสมของหนังบู๊ไทยภูธร ระเบิดภูเขาเผากระท่อมในช่วงยุค ‘60s กับหนังคาวบอยสปาเกตตี้ฉบับ เซอร์จิโอ เลโอเน่ (Sergio Leone) เขาเคยกล่าวกับนิตยสาร Art4D ในปี พ.ศ. 2543 ถึงนิยามของฟ้าทะลายโจรว่าเป็นหนัง “คาวบอยไทย สไตล์ต้มยำกุ้ง” หรือหนังแนว Classic Thai Western
ก่อนหน้าที่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง จะได้มีผลงานกำกับชิ้นแรกในชีวิตกับเรื่องฟ้าทะลายโจร เขาเป็นผู้คร่ำหวอดในงานเบื้องหลังมานับต่อนักมาก่อน เช่น การเขียนบทเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) ผู้สร้างแดง ไบเล่ให้เป็นตำนานตัวละครแห่งโลกภาพยนตร์ไทย และได้ร่วมงานกับนนทรีย์ นิมิบุตรต่อกับเรื่องนางนาก (2542) ก่อนที่จะได้เผด็จศึกโชว์ฝีมือเต็มขั้นกับฟ้าทะลายโจรที่กรุยทางสู่เส้นทางการกำกับภาพยนตร์ภายใต้ชื่อของเขาในปีต่อ ๆ มา เช่น หมานคร (2547) เปนชู้กับผี (2549) อินทรีแดง (2553) และผลงานล่าสุดกับเรื่อง สิงสู่ (2561)
วิศิษฏ์โอบกอดความเชยที่เป็นทัศนคติของคอหนังที่ดูแคลนหนังไทยแนวบู๊ภูธรในสมัย ‘60s หรือที่เราเรียกหนังในหมวดนี้ว่า ‘ความน้ำเน่า’ ที่นักแสดงส่วนใหญ่จะแสดงไม่สมบทบาท เล่นเกินจริง บทสนทนาของพระนางหวานปานจะกลืนกิน นี่ยังไม่นับพล็อตเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำเป็นเหมือนเทมเพลตแจกฟรีในโลกแห่งภาพยนตร์ยุคนั้น
ตลอดเรื่องฟ้าทะลายโจร แม้หนังจะดำเนินไปด้วยความเชยเฉิ่มของพล็อตเรื่องระเบิดภูเขาเผากระท่อม ยิงกันเลือดสาด ปราบปรามคนชั่ว อภิบาลคนดี ปกป้องคนรัก ชายผู้ต่ำต้อยกับหญิงผู้สูงศักดิ์ ที่ให้ตายเถอะใคร ๆ ก็คงเดาได้ว่าพระเอกที่เป็นคนดีขนาดนี้ตอนจบต้องตายแน่นอน แต่ความ Cliché ของหนังเรื่องนี้มันกลับถูกลำเลียงผ่านการนำเสนอแบบใหม่ที่ผลักทุกอย่างให้ไปสู่ความเหนือจริงให้คอนทราสต์กับพล็อตเรื่อง ทั้งงานภาพอันแสนวิจิตรทั้งในและนอกสตูดิโอ พร้อมแบคดรอปที่เพ้นท์ด้วยสีสันสวยเกินจริง รวมถึงซีนแอคชั่นที่เว่อวังและใส่รายละเอียดถี่ยิบ ส่วนซาวด์แทร็คก็เช่นเดียวกันทำหน้าที่อธิบายความนึกคิดของตัวละครได้มาอย่างบรรจง และที่จะขาดไม่ได้เลยบทสนทนาระหว่างพระและนางที่เต็มไปด้วยถ้อยคำพรรณนาโวหารที่ไม่ได้แค่เรื่องความรัก ฉะนั้นสำหรับผม ฟ้าทะลายโจรจัดอยู่ในหนังโพสต์โมเดิร์นที่นำขนบเก่ามาตีความใหม่

“ถ้าเราจะมีอัตลักษณ์ให้โลกจำเราได้ เราต้องโดดเด่นด้วยตัวเราเอง วิธีการคือย้อนกลับไปหาอดีต กลับไปต่อยอดจากงานเก่า และพามันสู่ความทันสมัยที่มันเป็นเรา” – วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ในนิทรรศการต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2560 จัดโดยมิวเซียมสยาม

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการคอนทราสต์ความเชยด้วยสีสันที่ผ่านการย้อมให้เราอิ่มไปกับสีชมพูแป๊นและน้ำเงินอมเขียว แบคดรอปสไตล์ Expressionism งานเพ้นท์ฉากดวลปืนของสองเสือในตอนต้นเรื่อง และกราฟฟิกฉากชายทะเลบางปูที่คู่พระนางได้สวมกอดกันเปลือยความในใจของตนและฉากดวลปืนครั้งสุดท้ายใต้พระจันทร์เสี้ยว ซึ่งสีสันที่ใช้ในหนังไทยสมัยก่อนจริง ๆ นั้นทางวิศิษฏ์ ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่ามันไม่ได้เป็นสีซีดที่เป็นภาพจำว่าให้อารมณ์เก่า ๆ แต่มันกลับฉูดฉาดและแสบสันเอาเสียมาก ๆ ตามภาพที่เราเห็นในหนังฟ้าทะลายโจรเป็นเช่นไรในอดีตก็เป็นเช่นนั้น
วิศิษฏ์นับถือและให้เกียรติหนังไทยสมัยเก่ามากโดยเฉพาะผลงานขึ้นหิ้งของรัตน์ เปสตันยี ปรมาจารย์หนังไทยผู้หนึ่งที่เป็นผู้ใส่ความสากลให้กับวงการหนังไทยอย่างเรื่องโรงแรมนรก (2500) และเป็นผู้กำกับที่มีสไตล์การทำหนังโดยเน้นสีที่สดใสและฉูดฉาดอย่างเรื่องสันติ-วีณา (2497) (โดยคุณชาญชนะ หอมทรัพย์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นการใช้ฟิล์มสี Kodachrome ถ่ายทำ) หรือเรื่องแพรดำ (2504) ก็เป็นเสน่ห์ที่วิศิษฏ์หยิบยืมมาบรรเลงให้กับภาพยนตร์ไทยในศตวรรษที่ 21

ภาพเก่าเล่าใหม่ มุมกล้องที่ตั้งใจทำให้เหมือนหนังของเซอร์จิโอ เลโอเน่ จังหวะกล้องจับดวงตาของทั้งเสือดำ (ชาติชาย งามสรรพ์) และเสือมเหศวร (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ไม่ต่างกับจังหวะที่กล้องเข้าไปจับหน้าของคลินต์ อีสต์วุด (Clint Eastwood) ในเรื่อง The Good, the Bad and the Ugly (1966) เลย หรืออย่างฉากมุมใต้หว่างขาที่คล้ายกับเรื่อง Once Upon a Time in the West (1968) นอกจากสีสันที่จัดจ้าน มุมกล้องสมมาตรก็มีโผล่มาให้เห็นในเป็นระยะ ๆ ที่นำพาให้นึกถึงเวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) และความเหนือจริงไม่ได้มีแค่สีภาพเท่านั้นยังรวมถึงแอคชั่นต่าง ๆ ตลอดทั้งเรื่องก็เว่อวังไม่แพ้กันอย่างฉากลูกปืนชิ่งสิ่งของหรือฉากลูกปืนชนกัน
เอาเข้าจริงการได้กลับมาดูฟ้าทะลายโจรอีกรอบแล้วแอบชวนนึกถึงหนังเรื่อง Wild at Heart (1990) ของเดวิด ลินซ์ (David Lynch) เรื่องนี้มีความลิเกสูงมากเหมือนกัน หนังดำเนินเรื่องไปตามการโต้ตอบระหว่างตัวละครหลักอย่างแม่ยายสุดเพี้ยนกับพระเอกสุดบ้า ผมมองว่าสองเรื่องนี้มีจุดร่วมเหมือนกันตรงพล็อตเรื่องที่คุ้นชินและง่ายต่อการคาดเดา แต่ปรุงแต่งให้แปลกใหม่ผ่านการถ่ายทอดออกมาในเชิงของวิชวล สิ่งนี้มันทำให้ย้อนกลับถึงจุดเริ่มต้นของงานภาพยนตร์ก็คือเรื่อง ‘ภาพ’ แค่เพียงฉากจุดไฟแช็คใน Wild at Heart ยังติดตาผมจนถึงทุกวันนี้ การตัดต่อมันแสดงความเหนือชั้นของการยกระดับหนังที่พล็อตเรื่องดาด ๆ ให้กลายเป็นหนังแห่งความทรงจำของคนดู

สาเหตุหลักที่เพลงยุคเก่าถูกหยิบขึ้นมาบรรเลงถ้อยคำในจิตใจของตัวละครแต่ละครั้งคราแล้วนั้นไซร้ ล้วนมาจากความคิดของวิศิษฏ์ที่เขามองว่าเพลงสุนทราภรณ์ในยุคนั้นแม้จะรับเอาดนตรีสากลเข้ามาปรับใช้ แต่ก็ยังคงความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่นด้วยตรรกะและการพรรณนาถึงฟ้าดิน อย่างเพลงฝนสั่งฟ้า ของ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ที่จะปรากฏในห้วงยามแห่งความคิดถึงของคู่พระนาง ซึ่งเพลงนี้เป็นต้นตอของการริเริ่มโปรเจกต์ฟ้าทะลายโจรของวิศิษฏ์ เขาบอกว่าตอนนั้นที่ได้ฟังเพลงนี้เป็นครั้งแรก ภาพแรกในหัวที่ลอยเข้ามาเป็นภาพชายสองคนกำลังดวลปืนท่ามกลางสายฝน และเพลงใครจะเมตตา ที่ดังขึ้นมาทีไหร่ในเรื่องก็ชวนปลุกให้เราใจจดใจจ่อต่อฉากต่อไป และยิ่งกับบทเพลงตอนท้าย กำสรวลจันทร์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวี The Last Rose of Summer กลิ่นอายรสชาติทางดนตรีตะวันตกที่ขับกล่อมผู้ชมเป็นความประณีตส่งท้ายของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้
เขายังลงรายละเอียดไปถึงเรื่องตัวละคร อย่างนางเอกอย่างสเตลลา มาลูกี้ ที่ตั้งใจ cast มาให้ตรงกับค่านิยมทางผู้หญิงในสมัยนั้นที่นางเอกต้องมีรูปลักษณ์อินเตอร์อย่างอมรา อัศวนนท์ ที่มีความคล้ายกับเอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) ของฝั่งฮอลลีวูด และเสือดำ ผู้ดำรงความยุติธรรมในคราบคนนอกกฎหมาย มีแผลเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวแบบเดียวกับเปาบุ้นจิ้น ส่วนตัวร้ายไม่ว่าจะเสือฝ้ายและเสือมเหศวรก็จะไว้หนวดทรงละม้ายคล้ายไอ้หนวดหิน ชาลส์ บรอนสัน (Charles Bronson) ตำนานของหนังคาวบอยสปาเกตตี้ ที่มีคอสตูมแบบจัดเต็มตามนิยายของ ป.อินทรปาลิต ผู้สร้างจักรวาลเสือใบและเสือดำผ่านตัวหนังสือ ไปจนถึงโปสเตอร์ลายเส้นไทยที่หายากจากอาจารย์เปี๊ยก โปสเตอร์

แม้ฟ้าทะลายโจรจะดูเหมือนไม่มีพื้นที่ให้กับอะไรที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทุกอย่างสุดโต่งหมด จะเลือดสาดก็เอาให้ล้นจอ จะหวานเลี่ยนก็เอาให้มดขึ้น จะเชยก็เชยให้มันสุด ๆ แต่ในความต่างที่สุดขั้วเมื่อมาอยู่ดูกันก็สามารถส่งเสริมให้องค์ประกอบมวลรวมดูกลมกล่อมมากขึ้น อย่างบทสนทนาของคู่พระนางที่เข้ามาถ่วงสมดุลให้กับหนังเรื่องนี้
รำเพย – “ดำจ๊ะ ถว่าทำไมคนเราต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยนะ ในเมื่อเรายิ่งโตเราก็ยิ่งทุกข์”
ดำ – “คงเพราะการมีชีวิตก็คือความทุกข์อันยาวนานชนิดหนึ่ง คนเราถึงต้องไขว่ขว้าหาความสุข เผื่อมาล่อเลี้ยงชีวิตให้ชุ่มชื่นจนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต”
บทสนทนาของคู่พระนางในช่วงเวลาที่ทั้งคู่เดินย่ำเม็ดทรายอาบแสงพระอาทิตย์ขณะกำลังจะลับขอบฟ้าที่ชายทะเลบางปู ตรงนี้ช่วยเข้ามาตัดความดิบ ความรุนแรงเลือดกระเซ็นของสไตล์คาวบอยสปาเก็ตตี้ให้กับหนัง บทสนทนาระหว่างรำเพยและดำ เป็นการประดิษฐ์ประดอยที่ตั้งใจมาเติมความเลี่ยนให้กับหนัง แต่อีกมุมมันก็สามารถช่วยเติมรสให้กับหนังเรื่องนี้ไม่ให้หัวทิ่มไปกับการสาดกระสุนใส่กันอย่างเดียว
สำหรับผมนั้นฟ้าทะลายโจร เป็นข้อพิสูจน์ของตัวผู้กำกับเองว่าการทำหนังที่สุดจะ Cliché ขนาดนี้ก็สามารถที่จะมีที่ยืนได้อย่างเฉิดฉายเหมือนกัน ถ้ารู้วิธีนำเสนอและเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าได้ขึ้นไปโคจรนอกประเทศไทยอย่างเต็มตัวกับการเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกนำไปฉายในเทศกาล Cannes Film Festival ปี 2001 ประเภท Un Certain Regard หนังที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นผ่านการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจ