ครั้งหนึ่งเราได้รับเกียรติสัมภาษณ์ Yosuke Otsubo ผู้กุมบังเหียนของลีวายส์แห่งภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีคำตอบหนึ่งที่เราเชื่อได้อย่างสนิทใจ จากที่ได้สบตาและได้ยินจากหูของเราเองหลังจากที่ได้ถามชายผู้นี้ไปว่า
สำหรับคุณอะไรคือไอเทมโปรดตลอดกาลจาก Levi’s
“แน่นอนว่าต้องเป็นยีนส์ 501 อย่างไม่ต้องสงสัยเลย จริง ๆ แล้วก็เยี่ยมทุกรุ่น แต่รุ่นปี 1947 นั้นมีความพิเศษในเรื่องของสไตล์จริง ๆ ความเจ๋งของมันอยู่ที่การเลือกสวมใส่ได้ตามไซส์และให้อารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป”
ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีมานี้ชาววินเทจทั่วโลกต่างยกให้ Levi’s 501 นั้นขึ้นหิ้งเป็นมรดกระดับตำนานของเมนส์แวร์ไปแล้วทั้งในฐานะไอเทมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับจักรวาลเดนิมและในวงการสตรีทแวร์ปัจจุบัน ย้อนกลับไปจุดเริ่มจริง ๆ เลข 5 ที่นำหน้ารหัสสามตัวนั้นถูกมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสินค้าของลีวายส์ที่ผลิตจากวัสดุที่ดีที่สุด ความหนักแน่นในเวลานั้นส่งต่อให้ลีวายส์ 501 กลายมาเป็นหนึ่งในไอเทมที่ไม่เรียกร้องหาความภักดีต่อผู้บริโภคอย่างออกหน้าออกตา แต่ดำรงอยู่ได้ด้วยคุณภาพที่ใช้เวลาเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ เหตุนี้ทำให้ผู้คนในโลกใบนี้ต่างพาเหรดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ลีวายส์ 501 ตั้งแต่ปี 1890
ความหลงใหลและความประทับใจของโยซุเกะ ที่มีต่อเจ้ายีนส์รหัส 501 ดูเหมือนว่ามันจะมีความเป็นสากลที่ใคร ๆ ก็ตามที่ต่างเคยสัมผัสเจ้า 501 ก็คงมีความรู้สึกนี้เกิดขึ้นคล้ายกัน นอกจากร่องรอยการใช้งานที่เกิดขึ้นจะเป็นประสบการณ์ระหว่างผู้สวมใส่ที่จะมีเพียงแค่เขาหรือเธอที่จะรักและเข้าใจความสุขบนลายผ้าได้อย่างแท้จริง คำพูดของโยซุเกะที่ว่า “อารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป” นั้นก็ถือเป็นอีกเสน่ห์หาของเจ้ากางเกงยีนส์รหัส 501 ที่มัดใจเหล่านักเล่นยีนส์มาได้ตลอดยุคสมัยกับการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่ปรากฏเป็นเส้นเรื่องของช่วงเวลาที่ผ่านมาตลอด 140 ปี
หากจะมานั่งนับนิ้วพูดถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญจริง ๆ ของกางเกงยีนส์ลีวายส์ 501 เห็นทีจะมี 6 เหตุการณ์ที่นักเล่นลีวายส์ตัวจริงต่างต้องรู้ไว้ที่เวลาต่อมาความเปลี่ยนแปลงนั้นได้กลายเป็น 6 รุ่นวินเทจยอดนิยม ถึงตรงนี้เราขอยกเวทีให้กับหนึ่งในบุคคลที่เชี่ยวชาญและช่ำชองในกางเกงยีนส์รหัสเลขสามตัวของบ้านเราอย่างป๋อ การันตีหรือปริญญา เบ็ญจรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม LEVI’S กับคนไทย ที่เรารับประกันเลยว่าความความคลั่งไคล้ในตัวยีนส์ลีวายส์ของเขาผู้นี้ไม่เป็นสองรองใคร โดยเขาจะมาเล่าให้ฟังและไขข้อข้องใจในทุกรายละเอียดที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับกางเกงยีนส์ลีวายส์ 501 ตัวเก่งที่คุณสวมใส่อยู่ในขณะนี้ ว่าทำไมเราต้องเรียกลีวายส์ 501 หลังปี 1980s ว่ารุ่น ‘ริมแดง’ ทั้งที่ผ้าริมแดงก็เป็นองค์ประกอบสามัญที่ปรากฏอยู่บนอยู่ตะเข็บขาด้านในของกางเกงยีนส์รหัสนี้มาหลายยุคสมัย หรือทำไมช่วงหนึ่งลีวายส์ถึงเปลี่ยนตัวอักษร E มาเป็น e ในป้าย Red Tab แม้กระทั่งบรรดาพวกวัสดุอย่างกระดุมหรือสีด้ายตามตะเข็บก็สามารถบ่งบอกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้เช่นเดียวกัน โดยไล่ตั้งแต่เจ้าลีวายส์ 501 ตัวหนังคอม้าในปีที่ Marlon Brando สวมใส่ในเรื่อง The Wild One (1953) จนถึงลีวายส์ 501 แซกดำ ที่เป็นยีนส์ลีวายส์ล็อตสุดท้ายที่ปิดแถวขบวน 501 วินเทจ